สายตาสั้น
สาเหตุและการป้องกัน

Ending Blindness
จบสิ้นเสียทีโรคที่ทำให้คนตาบอด

โดย นพ.สมเกียรติ อธิคมกุลชัย
จักษุแพทย
13 เมษายน พ.ศ. 2548

1. ปัญหาสายตาพร่ามัวเมื่อมองระยะไกล มีสาเหตุจากอะไรบ้าง ?

1.1 สายตาสั้น เป็นปัญหาสายตาที่พบมากที่สุด และมากขึ้นเรื่อยๆ ตามสภาวะการ เจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ พบมากในประชากรเขตเมืองมากกว่าในชนบท โดยเฉพาะ อย่างยิ่งในประเทศที่มีขนาดเล็ก ประชากรหนาแน่น และอัตราการเจริญเติบโตทาง เศรษฐกิจรุดหน้าอย่างรวดเร็ว เช่น ประเทศสิงคโปร์ และ ประเทศไต้หวัน เป็นต้น
กลไก เกิดจากลูกตามีขนาดความยาวเกินกว่าขนาดโฟกัสของเลนส์แก้วตาและ กระจกตา ภาพจากวัตถุในระยะไกลจะตกก่อนถึงจอประสาทตา ทำให้เห็นภาพพร่า มัว


1.2 สายตายาว เป็นปัญหาสายตาที่พบน้อย ไม่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากพันธุกรรม
กลไก เกิดจากลูกตามีขนาดความยาว สั้นเกินกว่ากำลังโฟกัสของเลนส์แก้วตาและกระจกตา ที่จะรวมภาพให้ตกพอดีที่จอประสาทตาได้ ดังนั้น ภาพจากวัตถุในระยะไกล จะตกเลยจอประสาทตาออกไป ทำให้เห็นภาพพร่ามัว

1.3 สายตาเอียง เป็นปัญหาสายตาที่พบเดี่ยวๆหรือพบสอดแทรกกับปัญหาสายตาสั้นและสายตายาว มากบ้างน้อยบ้าง และเช่นเดียวกับปัญหาสายตายาว คือ ไม่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากพันธุกรรม
กลไก เกิดจากผิวด้านหน้าของเลนส์แก้วตา และ/หรือ กระจกตา มีขนาดความโค้งในแนวตั้งและในแนวนอนไม่เท่ากัน ทำให้ภาพจากวัตถุทั้งระยะใกล้และระยะไกล ไม่สามารถโฟกัสที่จุดเดียวกันบนจอประสาทตาได้ แต่จะเหลื่อมกันในแกนทั้งสอง ทำให้เห็นภาพพร่ามัวทั้งระยะใกล้และระยะไกล

2. กลไกการใช้สายตาระยะใกล้
ในคนสายตาปกติ ภาพจากวัตถุระยะไกลจะถูกโฟกัสโดยเลนส์แก้วตาและกระจกตา ให้ตกพอดีที่จอประสาทตา


และเมื่อมองวัตถุระยะใกล้ หากการโฟกัสของเลนส์แก้วตาและกระจกตาไม่เปลี่ยนแปลง ภาพจะตกเลยจอประสาทตาออกไป
ดังนั้น เพื่อให้ภาพสามารถโฟกัสตกที่จอประสาทตา เลนส์แก้วตาจะต้องถูกปรับให้นูนมากขึ้น โดยการทำงานของกล้ามเนื้อวงแหวนที่เรียกว่า Ciliary muscle

เมื่อกล้ามเนื้อวงแหวนหดเกร็ง จะเกิดผล 2 ประการ คือ

2.1 เส้นใย Zonule ที่ยึดขอบของเลนส์แก้วตาจะหย่อนตัว ทำให้เลนส์ป่องออก เพิ่มความนูนของเลนส์ ทำให้สามารถดึงภาพที่เลยจอประสาทตาออกไป ให้กลับเข้ามาตกพอดีที่จอประสาทตาได้


2.2 รูปทรงของลูกตาจะยาวออก จากการรัดตัวของกล้ามเนื้อรูปวงแหวน ซึ่งจะช่วยเลื่อนจอประสาทตาออกไปหาภาพที่ตกเลยออกไปอีกทางหนึ่ง เสริมกับการดึงภาพเข้ามาจากการโฟกัสของเลนส์ในหัวข้อ 2.1 เพื่อให้ภาพตกพอดีที่จอประสาทตา.

3. ทำไมเด็กในเมืองจึงเกิดภาวะสายตาสั้นกันมาก ?
เด็กในเมืองมีการแข่งขันกันสูง ร่ำเรียนเขียนอ่านกันมาก เวลาพักผ่อน ก็มักจะเล่นเกมส์หรือทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ หรือไม่ก็ดูโทรทัศน์ ชีวิตส่วนใหญ่ก็อยู่ในห้องแคบๆ ซึ่งล้วนเป็นการใช้สายตาในระยะใกล้และระยะกลาง โอกาสใช้สายตาระยะไกลมีน้อยมาก ดังนั้น กล้ามเนื้อวงแหวน ( Ciliary muscle ) จึงถูกใช้งานเกือบตลอดเวลา การหดเกร็งของกล้ามเนื้อวงแหวน ทำให้การเจริญเติบโตของลูกตา มีรูปร่างออกไปในแนวยาว ซึ่งเป็นลักษณะของลูกตาที่ทำให้เกิดภาวะสายตาสั้นนั่นเอง

4. กรรมพันธุ์มีส่วนทำให้เกิดภาวะสายตาสั้นได้หรือไม่ ?
ได้อย่างแน่นอน เพราะว่า Gene จะเป็นตัวกำหนดรูปร่างของลูกตา ให้สั้น ( สายตายาว ) หรือยาว ( สายตาสั้น ) และ Gene ยังเป็นตัวกำหนดคุณสมบัติของชั้น Sclera ที่เป็นโครงสร้างสำคัญที่กำหนดรูปร่างของลูกตา


ถ้าโครงสร้างของชั้น Sclera บอบบาง สิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิต ( มีผลต่อการหดเกร็งของกล้ามเนื้อวงแหวน ) ก็จะมีผลต่อการเจริญเติบโตของลูกตาได้มาก แต่ถ้าชั้น Sclera แข็งแรง สิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิต ก็จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของลูกตาได้น้อย

5. แว่นตามีผลอย่างไรต่อการเปลี่ยนแปลงภาวะสายตาสั้น ?

5.1 เด็กสายตาสั้น ใส่แว่นตาเลนส์เว้า เพื่อจุดประสงค์ในการมองระยะไกลให้ชัดเจน
เหมือนคนปกติ
5.2 เด็กสายตาสั้นที่ใส่แว่นอยู่แล้ว เวลามองใกล้ กล้ามเนื้อวงแหวน ( Ciliary muscle ) จะต้องหดเกร็งเพื่อโฟกัสภาพให้ชัดเจนเหมือนคนสายตาปกติ แต่ถ้าเขาถอดแว่นออก เวลามองใกล้ กล้ามเนื้อวงแหวนจะหดเกร็งน้อยกว่าคนสายตาปกติ ยกเว้นในเด็กที่มีสายตาสั้นมากกว่า 3.00 diopters ระยะมองชัดโดยไม่ต้องหดเกร็งกล้ามเนื้อวงแหวน จะน้อยกว่า 1 ฟุต ซึ่งไม่สะดวกในการใช้สายตาทำงาน และอาจแก้ปัญหาโดยใช้แว่นสายตาสั้นที่มีค่าน้อยๆใส่ทำงานระยะใกล้ เช่น ถ้าสายตาสั้น 4.00 diopters ใส่แว่นสายตาสั้น 1.00 diopter หรือ สายตาสั้น 5.00 diopters ใส่แว่นสายตาสั้น 2.00 diopters เป็นต้น
5.3 การใส่ๆถอดๆแว่นตา ทำให้สายตาเปลี่ยนแปลงเร็วจริงหรือไม่ ?
ไม่จริง เป็นความเข้าใจผิดกันมานาน เด็กสายตาสั้น จำเป็นต้องใส่แว่นตาเพื่อมองกระดานในขณะเรียนหนังสือ หรือต้องการมองในระยะไกลเท่านั้น การอ่านหรือเขียนหนังสือ ไม่มีความจำเป็นต้องใส่แว่นแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม การใส่แว่นอ่านหรือเขียนหนังสือ กลับทำให้สายตาสั้นมากและเร็วขึ้น

6. เราจะป้องกันภาวะสายตาสั้น หรือไม่ให้สายตาสั้นมากขึ้นได้หรือไม่ ?
          ได้แน่นอน ถ้าหากเรารู้ถึงกลไกการเกิดปัญหาสายตาสั้น ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว โดยมี ข้อแนะนำดังต่อไปนี้ คือ

6.1 พยายามให้เด็กอ่านหรือมองระยะไกลทุกครั้งที่มีโอกาส เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อวง แหวน ( Ciliary muscle ) คลายตัว
6.2 ถ้ามีภาวะสายตาสั้นและมองไกลไม่ชัด ควรตัดแว่นให้เด็กใส่ เพื่อใช้มองไกลให้ชัด เจน และควรถอดแว่นตาทุกครั้งที่ใช้สายตาระยะใกล้ ( อ่านหรือเขียนหนังสือ )
6.3 อย่าให้เด็กหมกมุ่นกับกิจกรรมที่ใช้สายตาระยะใกล้มากเกินไป เช่นการเล่นเกมส์ คอมพิวเตอร์ การดูโทรทัศน์ ควรหากิจกรรมที่ทำในที่โล่งแจ้ง เพื่อกระตุ้นการใช้สายตาระยะไกล
6.4 สอนให้เด็กใช้ฝ่ามือ กดลูกตาผ่านบริเวณเปลือกตาที่ปิดสนิท เพื่อส่งแรงดันกดลูกตา ให้สั้นลง และคลายอาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อวงแหวน ทำวันละ 1 ครั้ง ๆ ละ 60 วินาที ก่อนนอน และเวลามีอาการสายตาล้าจากการใช้สายตาระยะใกล้นานๆ



ติดต่อ นพ. สมเกียรติ อธิคมกุลชัย
1. e-mail [email protected]  or  [email protected]
ติดต่อเข้ารับการรักษา ศูนย์ฟื้นฟูประสาทตาและการมองเห็น โรงพยาบาลเอกชัย.
วันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 9.00 น. - 17.00 น.
โทร. 03-441-7999 หรือสายด่วน โทร. 1715

-->เข้าสู่โฮมเพจหลัก ผลงานวิจัยของ นพ. สมเกียรติ อธิคมกุลชัย<--